Hilights
- เมื่อการตัดสินใจซื้อของ ลูกค้า “อารมณ์” มาก่อน “เหตุผล” เสมอคุณต้องสร้างแบรนด์ให้ ลูกค้า เกิดอารมณ์อยากได้สินค้าของคุณโดยที่พวกเขาจะใช้เหตุผลน้อยที่สุด
- เพราะตอนนี้อยู่ในยุคที่ลูกค้า Disloyalty และคำว่า Brand Loyalty จะไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป แบรนด์ต้องบอกในสิ่งที่ลูกค้าอยากรู้และให้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้ได้
- ถ้าอยากให้แบรนด์เป็นที่จดจำและถูกเลือกจากลูกค้า ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าแบรนด์ของคุณมีความมุ่งหวังอย่างไร ? ( Brand Mission ) และแบรนด์ของคุณมีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างไร ? ที่จะดึงใจลูกค้าให้เข้าหาคุณในตอนนี้
ผมมีคำถามที่อยากลองถามทุกคนดูครับว่า ตอนนี้พวกคุณคิดว่าลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการจาก “อารมณ์” หรือ “เหตุผล” มากกว่ากันครับ ?
หากคุณลองสังเกตดี ๆ แล้วคุณจะได้คำตอบของคำถามนี้ไม่ยากเลยล่ะครับ ง่าย ๆ ไม่ต้องมองไปถึงลูกค้าก็ได้ คุณแค่ลองสังเกตตัวเองเวลาซื้อของหรือใช้บริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำของคุณดูก็จะรู้คำตอบครับว่า คนเรามักใช้ “อารมณ์” มาก่อน “เหตุผล” เสมอ
ผมจะลองยกตัวอย่างให้คุณคิดตามแบบง่าย ๆ นะครับ เวลาที่คุณอยากได้ของสักชิ้นหนึ่ง เช่น รองเท้าแล้วกันครับ คุณเห็นรองเท้ารุ่นหนึ่งออกมาใหม่เลยเห็นปุ๊บคือใช่อะ ต้องได้ของมันต้องมีแล้ว ( อันนี้คือเรียกว่าเกิดอารมณ์อยากได้แล้ว ) พอมีความอยากได้แล้วต่อไปคุณก็หาร้านที่ขายรองเท้ารุ่นนี้ ดูราคา ดูสี ดูดีเทลต่าง ๆ มาหมดแล้ว แต่ก็มาคิดได้ว่าตอนนี้มีรองเท้าหลายคู่แล้วนะ ถ้าซื้อมาอีกมันจำเป็นไหม ? ราคาเท่านี้มันสมควรซื้อหรือเปล่า ? พอซื้อมาแล้วเดือนนี้ต้องลำบากหน่อยนะกว่าจะถึงสิ้นเดือน เหตุผลบลา ๆ ๆ เริ่มผุดขึ้นมาในหัว แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะซื้อรองเท้าคู่นั้นมาเพราะอารมณ์อยากได้อยู่ดี ซึ่งผมเป็นบ่อยมาก ๆ ถ้าอยากได้ก็คือต้องได้ สุดท้ายเหตุผลก็ต้องแพ้อารมณ์เสมอแหละครับ
ซึ่งการทำการตลาดในยุคนี้มันมีความยากและซับซ้อนมากขึ้น เพราะตอนนี้อยู่ในยุคที่ลูกค้า Disloyalty และคำว่า Brand Loyalty จะไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป จากทางเลือกที่เกิดขึ้นมากมายแถมพฤติกรรมผู้บริโภคมีนิสัยชอบเปลี่ยน ชอบลองของใหม่อยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงตอนนี้แต่ละแบรนด์ต่างปล่อยโปรโมชั่นและข้อเสนอดี ๆ ออกมาดึงใจลูกค้ากันอย่างหนักหน่วงเลยทีเดียว
ดังนั้นคุณต้องไม่ลืมว่า แบรนด์ต้องบอกในสิ่งที่ลูกค้าอยากรู้ ให้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการไม่ใช่มัวแต่พูดแต่เรื่องแบรนด์ตัวเองจนไม่มีใครอยากฟัง ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่าแบรนด์ของคุณมีความมุ่งหวังอย่างไร ? ( Brand Mission ) และแบรนด์ของคุณมีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างไร ?
ผมจะยกตัวอย่าง Brand Mission ที่หลายคนคงจะรู้จักกันดีให้เห็นภาพกันอย่างง่าย ๆ นะครับ
ไม่มีใครคงไม่รู้จัก Google และผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงจะเคยใช้กูเกิลในการค้นหาข้อมูลที่ต้องการอยู่บ่อย ๆ เหมือนผม ซึ่ง Mission ของ Google ก็คือ “To organize the world’s information and make it universally accessible and useful.” กูเกิลมุ่งมั่นที่จะช่วยจัดการข้อมูลของโลก และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
หรืออย่าง Grab ที่มี Mission statement คือ “Forward Together” นั้นคือ ความมุ่งมั่นที่จะช่วยให้ผู้คนเกิดความสะดวกสบาย ในทุก ๆ เรื่องของชีวิตประจำวัน ทำให้ Grab เป็นมากกว่าแค่การเดินทางและการขนส่ง
ซึ่งมันเริ่มต้นจากที่ แอนโทนี ตัน และ ฮุย ลิงตัน ผู้ก่อตั้ง Grab เห็นถึงปัญหาที่ผู้บริโภคต้องเจอเมื่อเวลาเรียกแท็กซี่แล้วถูกโดนปฏิเสธด้วยข้ออ้างต่าง ๆ พวกเขาจึงคิดสร้างระบบแพลตฟอร์มแอพพริเคชั่นที่มีระบบเรียกรถแท็กซี่ขึ้นมา และได้ต่อยอดให้มีบริการอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การสั่งอาหาร การส่งของ และบริการสั่งจองสินค้าขึ้นมา เพื่อตอบสนองความสะดวกของผู้บริโภคตาม Brand Mission แบบสุด ๆ ไปเลยครับ
เมื่อคุณมี Brand Mission เป็นของตัวเองแล้วสิ่งต่อไปที่ต้องตอบให้ได้คือ แล้วแบรนด์ของคุณแตกต่างจากแบรนด์อื่นอย่างไร ? ที่จะดึงดูดให้ลูกค้าเกิดอารมณ์ต้องการสินค้าของพวกคุณโดยใช้เหตุผลในการตัดสินใจให้น้อยที่สุด เช่น
- แตกต่างในเรื่องของคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าวสามารถจับต้องได้
- แตกต่างในเรื่องของภาพลักษณ์ ราคา กระบวนการให้บริการ รวมไปถึงการตกแต่ง การออกแบบ บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ไม่เหมือนแบรนด์อื่นและไม่เคยมีใครทำมาก่อน
- แตกต่างในเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ที่สะท้อนบุคลิกของแบรนด์ที่สื่อออกไปให้กับผู้บริโภครับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องราว ความเป็นมา หรือกระบวนผลิตที่พิเศษจากแบรนด์อื่น
ในยุคนี้การจะทำให้ลูกค้าจดจำคุณได้มันยากครับ ต่างคนก็ต่างแข่งกันงัดของดีของแบรนด์ตัวเองออกมาโชว์เพื่อดึงใจลูกค้ากันทั้งนั้น ถ้าคุณอยากให้แบรนด์เป็นที่จดจำและโดนเด่นจากแบรนด์อื่นสิ่งที่คุณต้องทำคือ คุณต้องสร้างแบรนด์ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนและแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้ตรงกับความรู้สึกที่พวกเขาต้องการ ในราคาที่สามารถเอื้อมถึง บนภาพลักษณ์ที่ดีและมีแรงดึงดูดใจจนพวกเขาใช้อารมณ์มาก่อนเหตุผลในการตัดสินใจซื้อสินค้าของคุณให้ได้
และที่สำคัญคุณต้องให้เวลากับการสื่อสารแบรนด์ของคุณให้มากพอเพราะบางอย่าง มันต้องใช้เวลาที่ต้องสื่อสารกับลูกค้ากว่าจะเป็นที่รู้จัก และสร้างความเชื่อถือเชื่อมั่นให้กับลูกค้าบนตลาดจนพวกเขายอมจ่ายเงินให้กับคุณได้ คุณไม่จำเป็นต้องใจร้อนเกินไปแต่ก็อย่าใจเย็นมากไปเช่นกัน เพราะคู่แข่งมันมีมากจนคุณนึกไม่ถึงเลยทีเดียว ดังนั้นควรวางแผนกลยุทธ์การสื่อสารแบรนด์ให้ดีและสัมพันธ์กับงบประมาณและเทรนด์การรับสารของลูดค้าด้วยนะครับ
อ่านจบมาเสริมความรู้กันต่อที่ เทคนิคปรับเว็บไซต์เพิ่มยอดขาย “ด้วยการรู้ใจลูกค้า” (Personalization)
ติดตามเรื่องราวของการตลาดออนไลน์ได้ในช่องทางต่อไปนี้
Web site : https://www.adsidea.net
Facebook : Adsidea ที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์ สร้างยอดขายง่ายนิดเดียว
Line : http://line.me/ti/p/%40adsidea